Tuesday, March 17, 2015

เปิดฎีกา! ถ้าเจ้าของร้านอาหาร ร้านกาแฟ เปิดเพลงผ่าน Youtube ผิดกฎหมายหรือไม่ อ่านจบแล้วรู้เลย - โอ้โหซ่าส์ ข่าว คลิป รูป กีฬา ฮอต!





จากกรณีที่บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงรายใหญ่ของไทย ขึ้นข้อความหลังคลิปมิวสิคโวดิโอที่เพิ่งอัพโหลดใหม่ แจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการร้านอาหาร ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือร้านค้าทั่วไป ว่าการเปิดเพลงที่เป็นลิขสิทธิ์ของแกรมมี่ให้ลูกค้าฟังผ่าน Youtube ก็ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากต้องการเปิดแบบถูกต้อง จะต้องติดต่อขอสิทธิ์กับทางบริษัท ซึ่งโดยทั่วไปการเปิดผ่าน Youtube จะอนุญาตให้รับชมได้เฉพาะเป็นการส่วนตัวหรือในที่อยู่อาศัยเท่านั้น
 
กรณีนี้เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้องซึ่งพอจะเทียบเคียงได้ กล่าวคือ
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2553
พนักงานอัยการจังหวัดระยอง
โจทก์
 
นางสุรินทร์ XXX
จำเลย
 
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
 
ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
 
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31, 70 วรรคสอง
 
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26
 
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยประกอบกิจการค้าขายอาหารตามสั่งและเครื่องดื่ม จำเลยเปิดแผ่นวีซีดีเพลง “กำลังใจที่เธอไม่รู้” อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นหรือดัดแปลงขึ้นให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยฟัง ไม่ปรากฎว่าจำเลยเปิดเพลงเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าฟังเพลงโดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนหรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าว ซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
 
________________________________
 
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 28, 29, 30, 31, 69, 70, 75, 76 ริบโทรทัศน์สี เครื่องเล่นซีดี ดีวีดี และให้แผ่นซีดีเพลงจำนวน 19 แผ่น ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ของกลางตกเป็นของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
 
จำเลยให้การรับสารภาพ
 
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ของกลางคืนให้แก่เจ้าของ
 
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
 
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน…” ความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องเป็นการเผยแพร่งานนั้นต่อสาธารณชน “เพื่อหากำไร” ซึ่งหมายความว่า กำไรนั้นหากจำเลยได้มาหรือจะได้มาจะต้องเกิดจากการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น แต่ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องได้ความว่า จำเลยประกอบกิจการค้าขายอาหารตามสั่งและเครื่องดื่ม จำเลยเปิดแผ่นวีซีดีเพลง “กำลังใจที่เธอไม่รู้” อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นหรือดัดแปลงขึ้นให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยฟัง ไม่ปรากฏว่าจำเลยเปิดเพลงเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ฟังเพลง โดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลง หรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
 
พิพากษายืน
 
สาระสำคัญในคำวินิจฉัยคือ
 
กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร คือกำไรโดยตรงไม่ได้มาจากการเปิดเพลง แต่มาจากอาหาร
ซึ่งคีย์เวิรด์ให้จำง่ายๆนะครับ ” ไม่ปรากฏว่าจำเลยเปิดเพลงเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ฟังเพลง โดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลง หรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด ”
 
ซึ่งทางเว็บมองว่าการกระทำดังกล่าวมิได้ทำเพื่อการหากำไรจากงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์จึงไม่เข้าข่ายความผิดอยู่ดี<
ข้อมูลจาก:

No comments:

Post a Comment