คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งทอ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สิ่งสำคัญอันดับสองรองจากกรอบบล็อกสกรีนที่จะนำไปสู่การทำแม่พิมพ์สำหรับงานพิมพ์สกรีน คือ “ผ้าสกรีน” ผ้าสกรีนที่ใช้ในการพิมพ์สกรีนทั่วไปมีอยู่หลายชนิด เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องมารู้จักกับผ้าสกรีนเสียก่อน เมื่อผู้ใช้มีความรู้ต่อเรื่องผ้าสกรีนดีแล้ว ก็จะสามารถเลือกผ้าสกรีนที่เหมาะสมกับงานพิมพ์สกรีนที่ต้องการทำ
ผ้าสกรีน (Screen Fabric) ที่ใช้ในงานพิมพ์สกรีนทั่วไป มี 2 ชนิด ดังนี้
1. ผ้าสกรีนโพลีเอสเตอร์ (Polyester) เป็นผ้าสกรีนที่เหมาะสำหรับพิมพ์ผ้ามากที่สุด เพราะผ้าสกรีนชนิดนี้ทำขึ้นมาเพื่อพิมพ์บนวัสดุผิวเรียบ ที่ต้องใช้ความตึงสูง ผ้าสกรีนชนิดนี้จัดเป็นชนิดที่ดีที่สุด เนื่องจากเป็นผ้าที่ขึงง่าย ไม่ต้องออกแรงดึงสูง ก็สามารถได้ความตึงตามที่ต้องการ การใช้แรงดึงเพื่อขึงผ้าสกรีนให้ตึงนี้ ไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีต่อบล็อกสกรีนเลย เพราะจะทำให้รูผ้าสกรีนบิดเบี้ยวได้ ทำให้สีที่พิมพ์ลงไปไม่สม่ำเสมอ ผ้าสกรีนชนิดนี้จะมีอายุการใช้งานมากกว่าผ้าสกรีนชนิดอื่น เพราะเวลาที่ล้างบล็อกสกรีนหลาย ๆ ครั้ง ผ้าสกรีนจะไม่เกิดขลุยผ้าบนเส้นใยและแรงตึงของบล็อกสกรีนก็จะไม่สูญเสียไปด้วย
2. ผ้าสกรีนไนลอน (Nylon) เป็นผ้าสกรีนที่ไม่ค่อยเหมาะกับการพิมพ์ผ้าเท่าไรนัก เนื่องจากว่าผ้าสกรีนชนิดนี้จะสามารถยืดหยุ่นได้ ซึ่งจะเหมาะสำหรับพิมพ์บนวัสดุผิวโค้งหรือวัสดุที่เป็นรูปทรงต่าง ๆ ผ้าสกรีนชนิดนี้เวลาที่ขึงแล้วไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน ๆ เพราะจะเกิดการหย่อนตัวลงและสูญเสียความตึงไปได้ นอกจากนี้ยังไม่คงทนต่อการถูกล้างกาวทิ้งเพื่อนำบล็อกกลับมาใช้ใหม่อีกด้วย เพราะจะเกิดขลุยบนเส้นใยและความตึงก็จะลดลงด้วย ผ้าสกรีนชนิดนี้จึงเหมาะสำหรับการใช้งานในระยะเวลาสั้น ๆ อีกทั้งราคาก็ค่อนข้างถูกกว่าผ้าสกรีนชนิดแรก
ชนิดของเส้นด้ายที่ใช้ทอผ้าสกรีน มีอยู่ 2 แบบ คือ
1. เส้นด้ายเดี่ยว (Monofilament)
เส้นด้ายเดี่ยว เป็นเส้นด้ายที่มีลักษณะคล้ายกับเส้นเอ็น ไม่มีเส้นด้ายอื่นมารวมอยู่ด้วยในหนึ่งเส้นของเส้นด้ายเดี่ยว
2. เส้นด้ายเกลียว (Multifilament)
เส้นด้ายเกลียว เป็นเส้นด้ายที่เกิดจากเส้นด้ายเล็กๆ หลายๆ เส้น มาปั่นเกลียวรวมกันเป็นเส้นด้ายหนึ่งเส้น
ลักษณะการทอผ้าสกรีน มีอยู่ 2 แบบ คือการทอผ้าสกรีนโดยทั่วไปสามารถที่จะใช้เส้นด้ายอย่างเดียวกันหรือเส้นด้ายคนละอย่างมาทอรวมกันก็ได้ ลักษณะการทอผ้า จึงเรียกตามเส้นด้ายที่ใช้ในการทอผ้า ดังนี้
การทอผ้าแบบ Mono-Mono Polyester จะใช้เส้นใย Polyester ชนิดเส้นเดี่ยวกับเส้นด้ายเดี่ยว มาทอเป็นผ้าสกรีน
การทอผ้าแบบ Mono-Multi Polyester จะใช้เส้นใย Polyester ชนิดเส้นด้ายเดี่ยวกับเส้นด้ายเกลียว มาทอเป็นผ้าสกรีน
การทอผ้าแบบ Multi-Multi Polyester จะใช้เส้นใย Polyester ชนิดเส้นด้ายเกลียวกับเส้นด้ายเกลียว มาทอเป็นผ้าสกรีน
การทอผ้าแบบ Mono-Mono Nylon จะใช้เส้นใย Nylon ชนิดเส้นด้ายเดี่ยวกับเส้นด้ายเดี่ยว มาทอเป็นผ้าสกรีน
การทอผ้าแบบ Mono-Multi Nylon จะใช้เส้นใย Nylon ชนิดเส้นด้ายเดี่ยวกับเส้นด้ายเกลียว มาทอเป็นผ้าสกรีน
การทอผ้าแบบ Multi-Multi Nylon จะใช้เส้นใย Nylon ชนิดเส้นด้ายเกลียวกับเส้นด้ายเกลียว มาทอเป็นผ้าสกรีนการเรียกเบอร์ผ้าสกรีน แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
1. เรียกเป็น "นิ้ว (inch)" หมายถึง จำนวนเส้นด้ายที่ทอมีกี่เส้นต่อผ้าสกรีน 1 นิ้ว เช่น ผ้าสกรีน เบอร์ 120 จะมีเส้นด้าย 120 เส้น ต่อ 1 นิ้ว หรือผ้าสกรีนเบอร์ 100 ก็จะมีเส้นด้าย 100 เส้น ต่อ 1 นิ้ว การเรียกผ้าสกรีนเช่นนี้ นิยมเรียกกันในประเทศที่ผลิตผ้าสกรีนในแถบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี สิงค์โปร์ เป็นต้น
2. เรียกเป็น "เซนต์ (cent)" หมายถึง จำนวนเส้นด้ายที่ทอมีกี่เส้นต่อผ้าสกรีน 1 เซนติเมตร เช่น ผ้าสกรีนเบอร์ 120 จะมีเส้นด้าย 120 เส้น ต่อ 1 เซนติเมตร หรือ ผ้าสกรีนเบอร์ 100 ก็จะมีเส้นด้าย 100 เส้น ต่อ 1 เซนติเมตร การเรียกผ้าสกรีนชนิดนี้นิยมเรียกกันในประเทศที่ผลิตผ้าสกรีนในแถบยุโรป เช่น อเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ เป็นต้น ในการเทียบเบอร์ผ้าสกรีนทั้งสองแบบ ให้ใช้อัตราส่วน 1 นิ้ว เท่ากับ 2.54 เซนติเมตร เช่น เบอร์ 120 ยุโรปก็จะเท่ากับเบอร์ 305 เอเชีย (120x2.54 = 304.8) หรือ เบอร์ 255 เอเชีย ก็จะเท่ากับ เบอร์ 100 ของยุโรป (255 หาร 2.54 = 100)
บางครั้งจะเห็นว่าเบอร์ผ้าสกรีนมีอักษรภาษาอังกฤษตามหลังมาด้วย เช่น 120T ตัวอักษรที่ต่อท้ายจะบอกขนาดของเส้นด้ายหรือความหนาของผ้าสกรีน ดังนี้
S = Small, M = Medium, T = Thick, HD = Heavy Duty
ดังนั้น 120T จึงหมายถึง ผ้าเบอร์ 120 ที่ทอจากเส้นด้ายอย่างหนาหรือมีเนื้อผ้าหนา แต่ในเรื่องค่าความหนาของเส้นด้ายของแต่ละประเทศหรือแต่ละบริษัทจะมีมาตรฐานการกำหนดไม่เหมือนกัน ดังนั้นการกำหนดความหนาของเนื้อผ้าจึงเป็นสิ่งที่จะใช้เปรียบเทียบกันเฉพาะภายในของผู้ผลิตเท่านั้น
การเลือกเบอร์ผ้าสกรีนสำหรับการพิมพ์ผ้า
การเลือกผ้าสกรีนที่เหมาะสำหรับการพิมพ์ผ้านั้น สิ่งหนึ่งที่ควรทราบคือความหนืดหรือความข้นเหลวของสีที่พิมพ์ลงไป ความข้นเหลวของสีพิมพ์ผ้าแต่ละชนิดมีไม่เท่ากัน เช่น แป้งจมจะมีค่าความข้นเหลวน้อยที่สุด จึงสามารถใช้ผ้าสกรีนเบอร์ละเอียด ๆ ได้ สียางมีความข้นที่มากกว่า จึงต้องใช้ผ้าสกรีนที่มีเนื้อหยาบกว่า และอีกปัจจัยต่อมาคือ ความหนาของเนื้อสีที่ต้องการ ถ้าต้องการพิมพ์สียางที่พิมพ์แล้วมีเนื้อสีที่บางติดกับผ้า ก็ควรเลือกใช้ผ้าสกรีนที่มีเนื้อละเอียดกว่าปกติ และถ้าใช้ผ้าสกรีนที่มีความหยาบกว่าที่ใช้อยู่ก็จะได้สียางที่มีเนื้อหนาขึ้น สำหรับปัจจัยสุดท้ายก็คือ ความคมชัดของลวดลายที่ต้องการ เช่น การพิมพ์แป้งจมในงานอ๊อฟเซ็ตสี่สีกับการพิมพ์แป้งจมในลวดลายธรรมดา ก็จะต้องเลือกใช้ผ้าสกรีนที่มีความละเอียดหรือหยาบต่างกัน การพิมพ์แป้งจมในงานอ๊อฟเซ็ตสี่สีก็ควรจะใช้ผ้าสกรีนที่มีความละเอียดมากกว่าการพิมพ์แป้งจมในลวดลายธรรมดา
ตารางการเลือกใช้ผ้าสกรีน
ประเภทของแป้งพิมพ์ | ความข้นเหลว | ผ้าสกรีนที่เลือกใช้ | |
พิมพ์หนา/ไม่เน้นขอบ/ลายพิมพ์ใหญ่ | พิมพ์บาง/เน้นขอบคมชัด/ลายพิมพ์เล็ก ๆ | ||
สีจม / สีอ๊อฟเซ็ต | 60,000 cps. | 135 mesh/inch | 150 mesh/inch |
สีลอย / สียาง / สีนูน | 80,000 cps. | 100 mesh/inch | 120 mesh/inch |
สีพลาสติซอล / สีซิลิโคน | 90,000 cps. | 150 mesh/inch | 180-305 mesh/inch |
สีนูนน้ำ / นูนพลาสติซอล | 100,000 cps. | 80 mesh/inch | 100-120 mesh/inch |
สีสีขาว / สีรองพื้น / ขาวพลาสติซอล | 120,000 cps. | 80 mesh/inch | 100-120 mesh/inch |
สีเงิน-ทอง-มุก | 100,000 cps. | 80 mesh/inch | 100 mesh/inch |
กากเพชรหกเหลี่ยม .2 mm. | 80,000 cps. | 36-50 mesh/inch | 65 mesh/inch |
กาวพิมพ์ฟอยล์ / กำมะหยี่ | 80,000 cps. | 80 mesh/inch | 100 mesh/inch |
กาวลูกแก้ว/เยลลี่พริ้นท์ | 80,000 cps. | 65 mesh/inch | 80 mesh/inch |
มีการกล่าวกันในวงการพิมพ์ผ้าว่า ถ้าต้องการงานพิมพ์ที่มีคุณภาพ ควรเลือกใช้ผ้าสกรีนหลายเบอร์ในการพิมพ์งาน 1 ลาย เพราะในงานพิมพ์ 1 ลายมีลายพื้น ลายเส้น หรือลายริ้วต่าง ๆ รวมกันอยู่ในลายเดียวกัน และนอกจากผ้าสกรีนจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ควรจะพิถีพิถันในการสร้างงานพิมพ์ผ้าให้ได้คุณภาพแล้ว ยางปาดสีก็เป็นปัจจัยต่อไปที่จะต้องมาดูกัน
ที่มาของบทความนี้เรียงความจากความรู้ความคิดและประสบการณ์การทำงานจริง โดยไม่ได้คัดลอกจากผู้ใดทั้งสิ้น ของ หจก. เอส.เค. สีและเคมี ตั้งแต่ปี 2535
เอกสารเผยแพร่ ของ เอส.เค. สกรีน เทรนนิ่ง เซนเตอร์ ศูนย์ฝึกอบรมการพิมพ์สกรีนสิ่งทอไทย ในเครือ หจก. เอส.เค. สีและเคมี โดย รุ่งทิพย์ อมรวชิรวงศ์ อาจารย์พิเศษและวิทยากร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งทอ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์*ข้อมูลทั้งหมดที่ระบุไว้ในบทความข้างต้นนี้ รวมทั้งคำแนะนำต่าง ๆ ล้วนแต่มีพื้นฐานมาจากความรู้และความเข้าใจในปัจจุบันของผู้เขียนทั้งสิ้น และถือได้ว่าความรู้ดังกล่าวมีความถูกต้องแม่นยำแล้ว แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนยังไม่สามารถให้การรับประกันความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลและคำแนะนำดังกล่าวได้ในทุก ๆ กรณี เนื่องจากผู้เขียนไม่อาจคาดคะเนได้ว่าผู้อ่านจะนำข้อมูลหรือคำแนะนำ ไปใช้เมื่อใด ทางด้านใดบ้าง และมีปัจจัยอะไรเป็นองค์ประกอบบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ อาจเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาและผู้เขียนขอสงวนสิทธิ์ในการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงข้อมูล และคำแนะนำข้างต้นตลอดเวลาด้วยโดยไม่มีการแจ้างให้ทราบล่วงหน้า*
ขอบคุณ ข้อมูลดีๆจาก
http://www.skcolorchem.co.th
No comments:
Post a Comment